สีหัวเทียน บอกอะไรได้บ้าง ?
ก่อนจะเริ่มเรื่องในหัวข้อนี้ อย่างแรกที่เราควรจะทำความเข้าใจก็คือ หลักการทำงานของเครื่องยนต์ในเบื้องต้น โดยเรียนรู้ว่าชิ้นส่วนประกอบของเครื่องยนต์นั้นมีอะไรบ้าง และอุปกรณ์แต่ละชิ้นทำงานอย่างไร เมื่อเราเข้าใจถึงหลักการทำงานและหน้าที่ของมันแล้ว เราก็อาจจะสังเกตุเห็นอาการผิดปกตินั้นๆได้ หากพบความผิดปกติ ก็สามารถวิเคราะห์ต่อไปได้ว่าสาเหตุที่เกิดขึ้นนั้นๆ มันมาจากอะไร ฟังดูเหมือนยากนะครับ แต่เอาจริงๆง่ายๆ เดี๋ยวผมจะมาอธิบายให้ฟังกัน
ปัญหารถยนต์ที่เจอบ่อย
- เครื่องยนต์สตาร์ทติดยาก
- สตาร์ทติดช้ากว่าปกติ
- ผ่อนคันเร่งแล้วอาการกระตุก เดินเบาไม่นิ่ง
- เบาเครื่องยนต์แล้วเครื่องดับ
- เครื่องยนต์เร่งไม่ขึ้น
- เครื่องยนต์มีเสียงแปลกๆ
อาการเหล่านี้หากเกิดขึ้นให้เราจับสังเกตุได้ ก็ไม่ควรนิ่งแล้วคิดว่าปัญหามันจะจบนะครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับใครที่ใช้รถเป็นประจำเนี่ย ยิ่งต้องหมั่นตรวจเช็คกันให้ดี อย่างเช่นสิ่งที่ผมมักจะทำอย่างน้อยปีละครั้งก็คือ ถอดหัวเทียนออกมาดู(สำหรับรถเบนซิน) เพื่อสังเกตุอาการเผาไหม้ในห้องเครื่องยนต์ ว่าสมบูรณ์ดีมั๊ย แต่หากไม่สมบูรณ์ ลักษณะอาการหัวเทียนรูปแบบต่างๆ จะบอกความสมบูรณ์ของเครื่องยนต์ได้ครับ

หัวเทียนมีสีน้ำตาลไหม้
: อันนี้อาจจะแปลได้ว่าเครื่องยนต์ยังสมบูรณ์ ไม่มีอาการผิดปกติใดๆเกิดขึ้น
หัวเทียนมีเขม่าสีดำ
: แบบนี้แน่นอนว่ามีปัญหาเรื่องส่วนผสมระหว่างอากาศและน้ำมัน (อ่านเพิ่มเติมเรื่อง A/F Ratio ได้จากลิงค์นี้ครับ ) ในเคสสีดำแบบนี้ คือน้ำมันจะหนาเกินไปครับ
หัวเทียนมีเขม่าสีขาว
: แบบนี้ก็ปัญหาเรื่องส่วนผสมเหมือนกัน แต่กรณีนี้จะเป็น น้ำมันบางเกินไป (อากาศมีมากกว่าน้ำมัน) ซึ่งอาจจะเกิดจาก ซีลรั่ว หรือเสื่อมสภาพ ประมาณนี้ครับ
หัวเทียนเปียกแฉะ
: อันนี้ชัดเลยว่าน้ำมันท่วม หัวฉีดอาจจะมีปัญหา ซีลรั่ว หรือหัวฉีดอาจจะลาโลกแล้วก็เป็นได้ เข้าอู่ด่วนๆเลยครับ
หัวเทียนแห้ง ไม่มีกลิ่นน้ำมัน
: เกิดจากระบบน้ำมันมีปัญหา เช่น หัวฉีดไม่สั่งจ่ายน้ำมัน ทำให้ไม่มีน้ำมันค้างอยู่ในห้องเผาไหม้เลย โดยอาการนี้มักจะเกิดพร้อมๆกันกับ เครื่องน็อค หรือเดินไม่เต็มสูบครับ
นี่คือหลักการวิเคราะห์เบื้องต้นจากการดูหัวเทียนแต่เพียงอย่างเดียวครับ นอกเหนือจากนี้ยังมีเทคนิคอื่นๆอีกมากมาย ที่สำคัญเลยคือ การสังเกตุ “เสียง” ที่เกิดขึ้นกับเครื่องยนต์ของเราครับ ไม่ว่าจะเป็นรถระดับไหน ราคาแพงซักเท่าไหร่ ยังไงมันก็พังกันได้ ดังนั้นการสังเกตุเสียงเนี่ยแหละเป็นตัวบ่งบอกอาการได้ดีที่สุดเลย เมื่อเราเริ่มสังเกตุตรงจุดนี้ ทำให้เราเริ่มวิเคราะห์ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นได้ครับ
ใส่ความเห็น
คุณต้องเข้าสู่ระบบ เพื่อจะพิมพ์ความเห็น