เครื่องจะพังมั้ยถ้าใช้น้ำมัน E85 และความแรงที่ได้มาแบบฟรีๆ
” เติมน้ำมัน E85 ดีมั้ย ใช้ได้กับรถหรือเปล่า ประหยัดจริงมั้ย เปลี่ยนอะไหล่อะไรบ้าง” อันนี้คงเป็นคำถามคาใจหลายๆคนกันนะครับ ในบทความนี้ผมจะขอมาพูดคุยถึงเรื่องเจ้าน้ำมัน E85 กันว่ามันมีดีอย่างไร เหตุใดรถแข่งส่วนใหญ่ชอบใช้เจ้านี่กัน
ในระยะหลังที่ผ่านมา ล้วนพูดถึงเจ้าน้ำมัน E85 อยู่เนืองๆ ว่ามันดีนักดีหนา ซึ่งปัจจุบัน ก็มีผลิตภัณฑ์สำหรับการเปลี่ยนรถธรรมดาๆ ให้กลายเป็นรถที่ สามารถเติมน้ำมัน E85ได้ อันที่จริงนี่น้ำมันตัวนี้มีใช้กันอย่างแพร่หลายมานานม๊ากแล้วล่ะแต่พึ่งจะมาบูมในประเทศไทยไม่กี่ปีที่ผ่านมา เหตุผลก็อย่างที่ทราบกันอยู่ว่าราคาถูก มันก็เลยดึงดูดใจผู้บริโภคอย่างเราๆ ให้อยากที่จะใช้ไอ้เจ้าน้ำมันตัวนี้ กอปรกับยังมี”เขาเล่าว่า” เติมสิ แรงขึ้นด้วยมันก็เลยนิยมเอามากๆ ผมเลยขอถือโอกาสนี้ มาเขียนบทความมาให้ได้อ่านกัน เกี่ยวกับน้ำมัน E85 และการจูนรถ ที่ใช้ E85 ด้วยซะเลยครับ
น้ำมัน E85 คืออะไร แล้วมันดียังไง ?
อันนี้เชื่อว่าหลายๆท่านคงจะทราบดีอยู่แล้วแหละ ว่ามันก็คือ น้ำมันที่ผสมแอลกอฮอล์ อยู่ที่ 85% นั่นเองงงงงงง
โดยจะขออธิบายในส่วนเฉพาะทางด้านรถยนต์ ไม่ลงลึกเกี่ยวกับเคมีมากนัก ซึ่งถ้าพูดกันโดยเนื้อแท้แล้ว น้ำมันประเภทนี้(E85) จะให้ค่าพลังงานความร้อน น้อยกว่า น้ำมันเบนซินเพียวๆ ครับ พูดง่ายๆคือ ถ้าเอาเจ้า E85 และ เบนซินธรรมดา มาทดสอบหาค่าพลังงาน โดยที่ทั้งคู่มีปริมาตรเท่ากัน จะพบว่า เจ้า น้ำมัน E85 ให้พลังงานความร้อนออกมาน้อยกว่านั่นเอง
ต่อมา เราจะมาดูในเครื่องยนต์กันบ้าง การที่เครื่องยนต์จะจุดระเบิดโดยที่มีส่วนผสมระหว่างอากาศและน้ำมันที่เหมาะสมนั้นจะต้องมีเซ็นเซอร์เพื่อมาบอกว่า เอ้ย น้ำมันหนาเกินไปนะ (Rich) เอ๊ะ นี่น้ำมันมันบางแล้วนี่(Lean) ไอ้เซ็นเซอร์ที่ว่านี้ก็คือ O2 sensor คือมันจะตรวจดูปริมาณออกซิเจนที่ปะปนมาทางท่อไอเสีย
สมมติการสันดาปไม่เป็นไปตามเป้ายกตัวอย่างเช่น ถ้า Rich(O2น้อย) มันก็จะส่งสัญญาณไปบอกกล่อง ECU ว่าเอ้ย เมิงน่ะ จ่ายน้ำมันลดลงหน่อยสิ ไอ้เจ้า ECU ก็จะสั่งงานหัวฉีด ให้ฉีดน้ำมันน้อยลง หลักการก็ราวๆนี้ ซึ่งมีความสัมพันธ์กับค่า A/F Ratio ครับ
A/F Ratio คืออะไร?
Sensor อีกตัวนึง ที่เอาไว้วัดค่า ความหนาบางของน้ำมันนี้ เราจะเรียกว่า Wideband ซึ่งเจ้าเนี่ยมันก็คือ O2 sensor นั่นแหละ แต่ละเอียดกว่า เพราะส่งสัญญาณเป็นอีกประเภท พูดง่ายๆว่ามันอ่านค่าแม่นกว่าประมาณนั้น โดยไอ้ความ หนา/บาง ของน้ำมันเนี่ย เค้าจะมีชื่อเรียกในวงการว่า AF หรือ AF ratio หรือ Air/fuel ratio ในที่นี้ผมขอเรียกสั้นๆว่า A/F แล้วกันนะครับ ซึ่งเจ้าค่าเนี้ย มันก็คือ ปริมาณของอากาศ หาร ปริมาณน้ำมัน หรือก็คือ อัตราส่วนระหว่างอากาศต่อน้ำมัน นั่นเองครัช
Fig 1 รูปตัวอย่าง Wideband ที่เอาไว้วัดค่า A/F
ทีนี้ จำได้มั้ยว่า เมื่อตอนต้นผมบอกว่า ถ้าเราเปลี่ยนน้ำมันจาก เบนซินธรรมดา มาเป็น E85 มันจะต้องสั่งจ่ายน้ำมันเพิ่ม แล้วทีนี้จะรู้ได้ไงล่ะว่าส่วนผสมมันเหมาะสม ประมาณว่าอากาศกับน้ำมันเนี่ย ผสมกันเท่าไหร่ดี? มันก็จะมีค่ากลางทางทฤษฎีส่วนผสมที่เหมาะสมครับ ซึ่งถูกวัดค่าออกมาเป็น A/F โดยเรียกว่า STOICHIOMETRIC
Fig. 2 ตารางแสดง ค่า Stoichimetric ของเชื้อเพลิงชนิดต่างๆ
จากตาราง Fig 2.3 ในส่วนขอ Gasoline ตัวเลข 14.7 คือค่า Stoichimetric อธิบายได้ว่า จะต้องใช้ อากาศ 14.7 ส่วน ต่อ น้ำมัน 1 ส่วน เพื่อให้ได้สัดส่วนที่เหมาะสมต่อการสันดาป
แต่ในขณะที่ น้ำมัน E85 ค่าจะอยู่ที่ 9.8 ซึ่งพอมาถึงบรรทัดนี้ น่าจะพอเห็นภาพแล้วนะครับว่าการที่ฉีดน้ำมันเชื้อเพลิงเข้าไปเพื่อให้การสันดาปสมบูรณ์(ทางทฤษฏี) เชื้อเพลิง E85 จะต้องมีส่วนผสมน้ำมันเยอะกว่า(หนากว่า) เชื้อเพลิง Gasoline ทีนี้เราก็มีตัวละครลับปรากฏขึ้นมา นั่นก็คือ LAMBDA
LAMDA เกี่ยวอะไรกับ A/F Ratio
ไอ้เจ้า Lambda เนี้ย มันก็คือ “หน่วย” ของการวัด A/F ประเภทหนึ่งครับ แต่จะอ้างอิงจากค่า Stoichimetric ของเชื้อเพลิงชนิดนั้นๆ วิธีการคำนวณนั่นก็แสนง่ายดายยิ่ง นั่นก็คืออออออออ
Lambda = Stoichiometric หารด้วย AF ที่วัดได้จากSensor
จากวิธีนี้ จะทำให้ไม่ว่าคุณใช้น้ำมันเชื้อเพลิงชนิดไหน ก็จะสามารถทราบได้เลยว่า การสันดาปนั้น RICH หรือ LEAN ครับ และนี่ก็คือประโยชน์ของการวัดค่าประเภท LAMBDA
เช่น ใช้เบนซิน 95 เพียวๆ วัดค่า A/F ได้ 14.7 วันดีคืนดี เปลี่ยนมาเป็น E85 วัดค่าได้ 9.8 อ้าว ทีนี้ งงเลย ไม่รู้ว่า Rich หรือ Lean เพราะถ้าพูดถึงว่า A/F 9.8 ใน เบนซิน 95 นี่โคตรรรรรรรรรรรรรรร RICH เลย แต่ในขณะที่ E85 นั้นถือว่าเหมาะสม แต่ถ้าวัดค่าออกมาเป็น Lambda จะมีค่าเท่ากับ 1.00 ไม่ว่าจะใช้เชื้อเพลิงชนิดใดก็ตาม เห็นมะว่ามันอ่านง่ายกว่ากันเยอะ
fig 3 ภาพแสดงหัวฉีด
ตอนนี้เรารู้แล้วนะครับว่า การที่ใช้น้ำมันเบนซินเพียวๆ ,E10 , E20 , E85 A/F ของแต่ละ ตัวนั้นต่างกัน(แต่ LAMBDA ไม่ต่างนะ) อีกนัยหนึ่งบอกได้ว่า ยิ่งแอลกอฮอล์ผสมในเชื้อเพลิงยิ่งเยอะ ต้องจ่ายน้ำมันมากขึ้นนั่นเอง จากตารางข้างต้น เมื่อทำการเทียบอัตราส่วนของน้ำมันที่ฉีดเข้าไปเพื่อเผาไหม้ โดยต้องการให้ประสิทธิภาพเครื่องยนต์เท่าเดิม ย้ำว่า แค่เท่าเดิม (แรงม้า,แรงบิด ฯลฯ) เมื่อเปลี่ยนเชื้อเพลิงจาก Gasoline มาเป็น E85 นั้น หัวฉีด จะต้องสั่งจ่ายน้ำมันเพิ่มเท่าไหร่?
56.321% !!!!!!!!!!!!
แล้วหากต้องการให้มันแรงขึ้นล่ะ จะต้องสั่งจ่ายน้ำมันเพิ่มขึ้นไปอีกเท่าไหร่ คิดดู๊ววววว ซ์
เปลี่ยนอะไหล่อะไรบ้างถ้าจะใช้น้ำมัน E85
จากทั้งหมดที่กล่าวมาพอเข้าใจแล้วใช้มั้ยครับว่า ถ้าคุณเปลี่ยนน้ำมันเป็น E85 จำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องเปลี่ยนอุปกรณ์หลายๆอย่างเพื่อให้เครื่องยนต์ใช้งานได้อย่างสมบูรณ์
- หัวฉีด
- ปั๊มน้ำมันเชื้อเพลิง (ปั๊มเบนซิน)
- ข้อต่อและสายน้ำมัน
fig 4 ภาพแสดงระบบน้ำมัน
อะไหล่ทั้งหลายข้างต้นที่ต้องเปลี่ยนนั้น ก็เพื่อจะให้มันรองรับปริมาณน้ำมันที่เพียงพอกับที่เครื่องยนต์ต้องการ การเลือกหัวฉีดที่ใหญ่ขึ้น ปั๊มที่ป้อนน้ำมันเชื้อเพลิงที่มากขึ้น ข้อต่อและสายน้ำมันที่สามารถทนทานต่อแอลกอฮอล์ได้ ทุกอย่างล้วนมีความสัมพันธ์กันหมดครับ หัวใจหลักคือต้องเลือกทุกอย่างให้เหมาะสม ไม่มากไป ไม่น้อยไป นั่นเอง
สำหรับรถยนต์รุ่นใหม่ๆ ที่รองรับเชื้อเพลิงได้หลากหลาย หัวฉีดและปั๊มน้ำมัน จะรองรับภาระตรงนี้ได้ครับโดยจะมีเซ็นเซอร์ตรวจจับว่า ไอ้น้ำมันที่ใช้เนี่ย คืออะไร ภาษาปะกิด เรียกรถยนต์ประเภทนี้ว่า Flex fuel vehicle หรือ FFV นั่นเองครับ
ในพาร์ทถัดไป เดี๋ยวเราจะมาพูดคุยกันถึงรายละเอียด ว่าทำอย่างไรรถถึงจะวิ่งได้ดีขึ้นเมื่อเติมน้ำมัน E85 กันครับ
ใส่ความเห็น
คุณต้องเข้าสู่ระบบ เพื่อจะพิมพ์ความเห็น